ในปัจจุบัน มีเพียง 30+ ประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมาย สมรสเท่าเทียม คุ้มครองสิทธินี้ให้กับประชาชนในประเทศ ซึ่งเป็นผู้ถือสัญชาติของประเทศนั้น บางประเทศคุ้มครองคู่สมรสต่างสัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศที่จดทะเบียนสมรสด้วยเช่นกัน อย่างเช่นกฎหมายของประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นระเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายนี้
หลายคนอาจจะบอกว่า คู่รัก LGBTQIA+ สามารถเดินทางไปจดทะเบียนสมรสยังต่างประเทศได้ แต่เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นปัญหา เพราะทำให้ไม่สามารถย้ายถิ่นฐานในฐานะคู่สมรสได้ หากอีกประเทศหนึ่งไม่ได้มีกฎหมายนี้รับรองอยู่ ดังนั้นคู่รัก LGBTQIA+ สัญชาติไทยที่ไปจดทะเบียนในต่างประเทศ ก็ยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายนี้รับรอง
ความแตกต่างของ พ.ร.บ. คู่ชีวิต และกฎหมายสมรสเท่าเทียม
พ.ร.บ. คู่ชีวิต คือร่าง พ.ร.บ.ที่จัดทำขึ้นมาใหม่สำหรับคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการจดทะเบียนสมรส มีการร่างครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 แต่มีความเหลื่อมล้ำหลายอย่างเรื่องสิทธิทางกฎหมายที่ไม่ครอบคลุม และไม่เท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ อาทิ การเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐในฐานะคู่สมรส หรือ การเลือกมีบุตรด้วยเทคโนโลยี จึงต้องมีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่เรื่อย ๆ
หลังจากนั้นจึงมีข้อเสนอแนะว่าควรแก้ไขที่กฎหมายมาตรา 1448 ว่าด้วยการจดทะเบียนสมรสแทน เพื่อให้มีการคุ้มครองที่ได้รับทางกฎหมายในมาตราอื่น ๆ อย่างเท่าเทียมกันทุกเพศ โดยไม่แบ่งแยกระหว่างคู่รักต่างเพศ และคู่รัก LGBTQIA+
ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติเท่าเทียมกันต่อคนทุกเพศ ในมาตรา 27 มีใจความว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะความแตกต่างเรื่องเพศ จะกระทำมิได้”
เหตุผลที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ยังมีหลายคนที่มองว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญขนาดนั้น เพราะคู่รักที่อยากใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน สามารถจัดงานแต่งงานได้ หรืออาจจะใช้ชีวิตด้วยกันอยู่แล้ว ก็อยู่กันต่อไปได้ แต่ความสำคัญของกฎหมายนี้ คือสิทธิและการคุ้มครองทางกฎหมายที่ครอบคลุมถึงคู่สมรส ซึ่งต้องเกิดขึ้นหลังจากที่ทำการจดทะเบียนสมรสเท่านั้น
บทความนี้ได้รวบรวมความคิดเห็นจากตัวแทนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ได้พูดคุยกับ Wonders & Weddings เกี่ยวกับความสำคัญแท้จริง ของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เป็นมากกว่างานแต่งงาน
ทุกวันนี้รัฐบาลยังดูแลคนไม่เท่าเทียม
“พ.ร.บ.คู่ชีวิตปัจจุบันมันไม่ได้มีความเสมอภาคเลย พูดถึงกฎหมายสินสมรสมันยังใช้ไม่ได้ด้วยซ้ำ กฎหมายต้องครอบคลุมกว่านี้ ถ้าจะมีกฎหมายที่ยอมรับ ก็ต้องมีความเสมอภาค ต้องเอาคนที่มีความรู้มาทำ แล้วควรเอาคนที่เป็น LGBTQIA+ มาผลักดันกฎหมาย ดูแลกฎหมายนี้ ต้องเป็นคนที่เข้าใจ LGBTQIA+ จริง แต่ทุกวันนี้รัฐบาลยังดูแลคนไม่เท่าเทียม
ถ้าได้แต่งงานก็อยากมีลูก เพราะว่าอยากสร้างคน เป็นเป้าหมายในชีวิต มันมีผลมาจากการทำงานที่เราได้เห็นพัฒนาของคน แล้วถ้าเรามีลูกที่เราช่วยดูแล ก็คงตื่นเต้นมากว่า จะส่งเค้าไปเรียนอะไร จะคุยอะไรกับเค้า แต่ทุกวันนี้มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเลย อยากให้มันดีขึ้น แต่คนในสภายังไม่เข้าใจหรือยังไม่เห็นด้วย เรื่องความเท่าเทียมในสังคมก็กลายเป็นเรื่องที่ยาก”
-นักวางกลยุทธและนักออกแบบการเรียนรู้ ที่ต้องการเห็นความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมกับการพัฒนาการศึกษา
กฎหมายคือการใช้ชีวิตร่วมกัน
“กฎหมายที่ออกมาควรจะช่วยสนับสนุนการดำเนินชีวิตให้ราบรื่นและสงบสุข การใช้ชีวิตร่วมกัน มันต้องมีการสนับสนุนทางกฎหมาย ก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีการกีดกัน ถ้าเป็นคู่รักชายหญิงมีค่าเดินทาง มีการทำประกัน รับผลประโยชน์ การเจ็บป่วย แต่เราไม่สามารถเซ็นอะไรให้กันได้
เราดูแลสร้างทุกอย่างมาด้วยกัน แต่สุดท้ายเวลาที่เค้าเดือดร้อนเราไม่สามารถช่วยอะไรได้ มันก็น่าเศร้ามาก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการรับมรดกก็ได้ แต่เราให้อยากให้อีกคนใช้ชีวิตอยู่ต่อได้โดยไม่ลำบาก มันคือการใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่ว่าจะอยู่ด้วยกัน หรือจากกันไปแล้ว ก็ควรมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพย์สินร่วมกันทุกเพศ การจัดการทรัพย์สินไม่ใช่แค่การซื้อของร่วมกัน แต่เราอยากให้คนที่เราอยู่ได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายด้วย”
-คุณแพทริเซีย ดวงฉ่ำ นักเคลื่อนไหวและผู้ก่อตั้งกลุ่ม GIRLxGIRL Thailand
สมรสเท่าเทียม รับรองว่าเรามีสิทธิเสมอภาคกัน
“ในระดับของสังคม มันยังมีปัญหาเรื่องทัศนคติอยู่ คนไม่ได้ยอมรับทั้งหมด 100% ยังมี LGBTQIA+ จำนวนมากถูกเลือกปฏิบัติ และใช้ความรุนแรงจากครอบครัว สังคม ในอีกแง่ก็มีเรื่องของชนชั้น ที่ถ้ามีเงินมากพอก็ไม่มีใครทำอะไร ถึงจะมีคำพูดว่าประเทศไทยยอมรับ LGBTQIA+ มากแล้ว แต่มันก็ย้อนแย้งว่าทำไมไม่มีสิทธิทางกฎหมายเท่า hetero (คู่รักต่างเพศ) ถ้ามีกฎหมายถึงจะรับรองว่าเรามีความเท่าเทียม มีสิทธิเสมอภาคกัน
ส่วนตัวเคยมีประสบการณ์คือคนรักเก่าถูกกีดกันไม่ให้เลี้ยงดูลูก แล้วพอกฎหมายไม่รองรับอยู่แล้ว สังคมก็ยิ่งไม่ยอมรับ บอกว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ควรเลี้ยงลูกเพราะเค้าไม่ปกติ ทำให้เค้าไม่สามารถเลี้ยงลูกได้พักใหญ่ ในตอนนั้นเราไม่สามารถเข้าไปเรียกร้องสิทธิอะไรได้เลยเพราะเราเป็นคนนอก เราไม่มีสิทธิ์ทางกฎหมาย ถ้ามีกฎหมายนี้เราสามารถยืนยันได้ว่าเราเป็นคู่สมรสของอีกฝ่าย สังคมก็จะรับรู้ด้วยว่าเราคือคู่ชีวิต ไม่ใช่ใครก็ไม่รู้ที่มาอยู่กับเค้า การคุ้มครองทางกฎหมายทุกข้อสำคัญหมด เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรบ้าง”
-คุณดาราณี ทองศิริ นักสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิผู้หญิงและความหลากหลายทางเพศ ผู้ก่อตั้งองค์กร Feminista
เราเป็นคนเหมือนกัน มีความรักเหมือนกัน
“สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะโตเข้ามา ก็อยากให้เค้ารู้ว่าเค้ามีพื้นที่มีตัวตนในสังคม สมัยก่อนมันจะมีแบบต้องฝืนไปแต่งงานกับเพศตรงข้าม ไม่ได้อยากให้มองว่างานแต่งงานมันเป็นแค่แฟนตาซี มันหมายถึงการที่เค้ามีสิทธิ์มีเสียงในสังคม มีการเสียภาษี การกู้ร่วม ที่สุดปลายทางของชีวิตมันยังมีทางเลือกให้รู้ตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่มีแบบไม่เต็มขั้นแบบพ.ร.บ. คู่ชีวิต แล้วมีคนเป็น straight มาพูดว่าเค้าก็ให้แล้วไง ทำไมให้แล้วยังไม่พอใจอีก ที่ไม่พอใจเพราะไม่เท่าเทียมกัน
ความกังวลเรื่องบุตรบุญธรรม เป็นสิ่งที่สังคมไทยยังไม่เปิดรับ 100% สังคมตอนนี้มันอยู่ในจุดที่ โอเค ยอมรับว่ามีคนรักกันจริง แต่พอจะให้สิทธิ์เต็มขั้นเรื่องการรับคู่บุญธรรม มีแม่อุ้มบุญ ก็มีคำถามว่าคู่รัก LGBTQIA+ จะเลี้ยงลูกได้จริงหรอ แล้วเค้าไม่ยอมปล่อยผ่าน เราก็ไม่รู้ว่าจะอีกนานไหมว่าเค้าจะข้ามผ่านเรื่องนี้ เพราะลูกที่มีพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือคนที่ให้ป้าให้น้าช่วยเลี้ยง เค้าก็โตมาเป็นพลเมืองได้”
“เราอยู่ด้วยกันมานานก็ต้องมีคุยเรื่องแต่งงาน ตรงนี้เรามีข้อมูลพร้อมมาก ได้เห็นว่าธุรกิจต่าง ๆ เข้าใจมากขึ้น ทีนี้มันก็จะมาติดตรงที่กฎหมายอีก พอถามว่าทำไมอยากให้มีกฎหมายนี้ ก็คิดกลับไปเหมือนกันว่าแล้วทำไมถึงไม่อยากให้มี เพราะเราเป็นคนเหมือนกัน มีความรักเหมือนกัน เราทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองเท่ากัน ทำไมเราไม่ได้รับสิทธิ์ตรงนี้ เราอยู่กันมานาน 11 ปี เราอยู่กับคนที่รักเรา ทำไมความรักของเรามันไม่เท่ากับความรักของคนอื่น”
-คู่รัก LGBTQIA+ ที่มีความหวังอยากใช้ชีวิตคู่โดยได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม
การไม่มีสมรสเท่าเทียม คือการปฏิเสธความเท่าเทียมของประชาชน
“กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญ และมันเป็นต้นเหตุความเศร้าของหลายเรื่อง เช่น สิทธิ์ในการเซ็นรับรองการเข้ารักษาพยาบาล พอไม่ได้เซ็นเป็นคู่สมรสทางกฎหมาย ทางโรงพยาบาลก็ไม่สามารถเซ็นให้ได้ หรือการลดหย่อนภาษีคู่สมรส ก็ทำให้ไม่ได้สิทธิ์ตรงนั้นไป ซึ่งเค้าก็เสียภาษีโดยไม่ได้รับประโยชน์ในการลดหย่อน เสียภาษีอัตราที่เท่ากันหรือเยอะกว่า แต่สิทธิที่กฎหมายคุ้มครองมีน้อยกว่า
เราได้ทำงานและได้คุยกับคู่รัก LGBTQIA+ หลายคู่ แต่ละคนมีเรื่องราว อย่างครอบครัวที่มีลูกสาว เค้าเลยไม่สามารถรับรองลูกสาวเป็นบุตรได้ มีการเลือกปฏิบัติที่เค้าต้องเผชิญ เช่น คู่รักผู้หญิงข้ามเพศที่เป็นคุณครู มีสวัสดิการราชการ แต่คู่ชีวิตเป็นเพศเดียวกันในสายตากฎหมาย ทำให้เค้าไม่สามารถเข้าถึงสิทธิจากทางราชการที่จะช่วยคนรักได้
วันหนึ่งถ้า พ.ร.บ.คู่ชีวิตผ่านแล้วมันอาจจะช่วยหลายอย่างก็จริง แต่เรามองว่ามันคือการสร้างกฎหมายชุดใหม่ มันไม่ใช่ความเท่าเทียม มันยังทำให้คู่รักหลายคู่ต้องเผชิญเนื้อในของกฎหมายที่สิทธิต่าง ๆ ยังติดขัดกับตัวเลือกการใช้คำพูด เช่น ต้องเป็นสามีภรรยา สุดท้ายมันก็กลับมาที่เดิมว่าเราเรียกร้องความเท่าเทียม แต่ไม่ได้ความเท่าเทียม
สำหรับเราในฐานะประชาชนคนหนึ่ง การที่รัฐปฏิเสธไม่ยอมให้มีสมรสเท่าเทียม ก็คือการปฏิเสธความเท่าเทียมของประชาชน รัฐเหยียดเราเป็นประชาชนชั้นสอง เราไม่เชื่อว่าเราได้รับการยอมรับจริง ๆ จนกว่าพ.ร.บ.นี้จะได้รับการแก้ไขให้เป็นสมรสเท่าเทียม สิ่งที่เราต้องการคือความเท่าเทียม มันไม่ใช่สิทธิอะไรพิเศษด้วยซ้ำ เลยไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเรื่องที่เรียกร้อง ต้องแก้ไข พิจารณาอะไร มันคือการยอมรับความหลากหลายของสังคม”
-คุณวรรษมน ไตรยศักดา ช่างภาพที่บอกเล่าเรื่องราวความหลากหลายทางเพศบนเว็บไซต์ Watsamon Tri-yasakda
สิทธิสำหรับคู่รักเพศหลากหลายและเยาวชน
“ที่จริงก็เป็นสิ่งที่เรียกร้องมานานแล้ว แต่ก็เพิ่งมาเป็นกระแสอีกรอบในช่วง 1-2 ปีนี้ พอเราไม่ออกมาพูดก็เงียบ ต้องออกมาเรียกร้อง มากระตุ้น เวลามีอะไรรัฐบาลสั่งประชาชนต้องทำเลย แต่พอเราเรียกร้องกลายเป็นว่าเราต้องรอ ตอนนี้เรายังไม่ได้จัดงานแต่งงานที่ไทย ก็อยากให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมก่อน จะได้มีทุกอย่างครบถ้วนทั้งทางกฎหมาย”
“เราจดทะเบียนสมรสกันที่เยอรมนีแต่ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทย ถ้าเรายังอยู่ที่เยอรมนีคงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่การที่เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ส่งผลกระทบกับชีวิตเราทั้งสองคนมาก ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเหตุฉุกเฉินขึ้นมา เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย มีคู่รักหลายคู่ที่อยู่ด้วยกันมา 20-30 ปี ถึงเวลามีเหตุฉุกเฉินแบบนี้ บางคนก็โดนครอบครัวอีกฝ่ายกีดกันไม่ให้เข้าเยี่ยม เป็นเรื่องที่แย่มาก ๆ
“กฎหมายนี้สำคัญมากสำหรับเยาวชนที่เป็น LGBTQIA+ ด้วย เพราะพวกเขาควรจะได้เห็นตัวอย่างว่าสามารถใช้ชีวิตแบบไหน โตขึ้นไปเป็นอะไรได้บ้าง สำหรับเราสองคน เราโชคดีที่คนรอบข้างยอมรับ แต่ถ้าพูดถึงเด็ก ๆ อายุ 13 หรือ 15 ที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้อย่างแท้จริงกับครอบครัว มันมีผลกระทบหลายอย่างมาก บางคนก็ยังรู้สึกกลัวมากที่จะเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง ก็อยากให้พวกเขารู้ว่าไม่ต้องกลัว ไม่มีอะไรต้องกลัว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใช้เวลา และเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร แต่เราอยากมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ แม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ ก็อาจจะส่งผลได้ในมุมกว้าง”
- คุณเพ็ญและคุณเอวา คู่รักเลสเบี้ยน ทีมงานเพจ LGBTQ Travel Thailand
ร่วมสนับสนุนกฎหมาย สมรสเท่าเทียม ในประเทศไทย
หากคุณต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมและการรองรับสิทธิการจัดตั้งครอบครัวสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายภาคประชาชนและอ่านเนื้อหากฎหมายฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ www.support1448.org